เรียนๆ เล่นๆ พิชิตเกรด 4

เรียนๆ เล่นๆ พิชิตเกรด 4


                “การเรียน” หากจะเอ่ยถึงคำนี้ หลายคนคงนึกถึงการเรียนในห้องเรียนที่เคร่งเครียดอยู่แต่ในตำราและกังวลเมื่อทำแบบฝึกหัดหรือทำข้อสอบ จนกระทั่งเกรดออกมาว่าจะเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่
“การเรียน”  จึงเป็นสิ่งที่เครียดมากสำหรับวัยรุ่นในสมัยนี้ บางคนถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หากเพียงแต่วิชานั้นไม่ได้เกรด 4 อย่างที่ได้หวังเอาไว้ แต่กระนั้นแล้วนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี กับการเอาใจใส่ในเรื่องการเรียน แต่ถ้าเคร่งเครียดมากเกินไป นั่นก็เป็นสิ่งไม่ดี เปรียบได้กับยางยืด ถ้าเรายืดยางยืดมากจนเกินไป ยางยืดนั้นอาจจะขาดได้ ถ้าเราเคร่งเครียดในการเรียน แทนที่จะได้ผลออกมาดี กลับกลายเป็นว่าแย่กว่าเดิม
                “การเรียน” นั้นไม่ได้หมายความว่าการเคร่งเครียดในตำราเรียน แต่ว่าการเรียนนั้นได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว เมื่อเราย้อนไปดูสิ่งเก่าๆ นับตั้งแต่เราได้ลืมตาดูโลกใบนี้เมื่อพิจารณาอย่างดีถี่ถ้วนแล้ว พบว่าสิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังเดินเตาะแตะ ตั้งแต่ยังพูดจาไม่เป็นคำ สิ่งเหล่านั้นคือการเรียนรู้ชั้นดีทั้งสิ้น โดยไม่มีผู้ใดสอน แต่นั้นคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เราได้พบเจอมา ดังนั้นแล้วเราอย่าไป
ยึดติดว่าการเรียนมีแต่ในตำรา อย่างที่เราเข้าใจมาโดยตลอด เพราะความคิดเหล่านั้น จะทำให้เราพบกับ “ความเครียด” และ “ความเบื่อหน่าย”
                “การเรียน” หลายคนได้บอกว่า มันคือสิ่งหนึ่งๆ ที่บางครั้งก็ยังหานิยามไม่ได้ แต่หลายต่อหลายคนบอกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ
                “การเรียน” คือ ตัวหนังสือมากมาย ที่เราต้องอ่านและจดจำในตำรา
                “การเรียน” คือ สิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก
                ถึงกระนั้นแล้ว ไม่ว่านิยามของการเรียนของแต่ละบุคคลจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำการเรียนของเราให้เป็นเรื่องสนุกสนาน ผสมผสานทั้งจากตำราเรียนและในชีวิตจริง ไม่เคร่งเครียดมากเกินไป และเมื่อนั้นการเรียนของเราก็จะไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป




                ข้อปฏิบัติของการเป็นผู้เรียนที่

1.             เวลาฟังอาจารย์สอนหรือเวลาอ่านต้องคิดตาม ถาม จดตลอดเวลา ถ้าไม่เข้าใจควรจดคำถามไว้เพื่อคิดค้นคว้าหรือถามผู้รู้ต่อไป
2.             หามุมที่ใช้เป็นที่ดูหนังสือหรือทำการบ้านที่จะทำให้มีประสิทธิภาพ
3.             จัดเวลาสำหรับทบทวนสิ่งที่เรียนมาหรืออ่านล่วงหน้าสิ่งที่จะเรียนต่อไปและถ้าปฏิบัติตามที่กำหนดได้ควรให้รางวัลตัวเอง เช่น ได้ขนม ได้เล่น ได้ฟังเพลง ดูโทรทัศน์หรือออกกำลังกาย เป็นต้น แต่ถ้าทำไม่ได้ตามที่กำหนดควรหาเวลาชดเชย
4.             อ่านหนังสือกับเพื่อน อย่าหวงวิชา แบ่งความรู้ให้กันและกัน อย่าช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด เช่น ทุจริตเวลาสอบหรือลอกงานด้วยความไม่เข้าใจ
5.             ฝึกศึกษาด้วยตนเอง มิใช่ต้องเรียนรู้จากครูเพียงอย่างเดียว การศึกษาด้วยตนเองต้องใช้สมาธิมากต้องทำความเข้าใจ จดสาระสำคัญต่างๆ ลงในโน้ตย่อ จดสิ่งที่ไม่เข้าใจไว้ค้นคว้าต่อไป


ทำอย่างไรเราถึงจะจำได้ดี


               จากการศึกษาของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับการจำการลืมของมนุษย์ พบว่าคนเรามีอัตราการจำและการลืม ดังนี้
               เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งวัน คนเราจะจำเรื่องราวที่ตนอ่านไปได้ประมาณ 50% และลดลงไปอีกครั้งหนึ่งทุกๆ 7 วัน จนในที่สุด จะนึกไม่ออกเลย เมื่อผ่านไป 21 วัน
               การแก้การลืมความรู้ก็คือไปทบทวนทันทีที่เราเรียนในแต่ละวันเพื่อไม่ให้เกิน 24 ชั่วโมง จากนั้นเราทิ้งช่วงไปทบทวนรวบยอดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพื่อมิให้เกิน 7 วัน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะทบทวนสิ่งที่เรียนมาทั้งสัปดาห์
               เนื่องจากความรู้ในแต่ละวันจะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เราควรทำโน้ตย่อและทบทวนจากโน้ตย่อสาระสำคัญ จะช่วยให้เราเสียเวลาทบทวนน้อยลง
            

เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน

              
 หลักการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน 6 ประการ ซึ่งมีผู้นำไปปฏิบัติแล้วได้ดี มีดังต่อไปนี้
1.             สะสม (gradual) คือการเรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะสมวันละนิด
2.             ทำซ้ำ (repetition) คือ การทบทวน ท่อง และทำแบบฝึกหัด
3.                ย้ำรางวัล (reinforcement) คือ ควรให้รางวัลตัวเอง เมื่อทำงานเสร็จในแต่ละครั้ง เพื่อให้ขยันยิ่งขึ้น
4.                ขยันคิด (active leaning) จงใส่ใจคิดตามเสมออย่าฟังหรืออ่านไปเรื่อยๆ
5.                ฟิตปฏิบัติ (practice) ต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ ไม่ใช่แต่รู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียว การลงมือปฏิบัติจริงจะทำให้จำแม่นยำ เกิดการถ่ายโยงความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว
6.                หาทางบังคับตนเอง (stimulus control) โดยอาศัยการจัดสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเร่งและกระตุ้น


เรียนรู้จากประสบการณ์

               ประสาทสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ จากประสบการณ์ โดยเราจะมีประสาทสัมผัส
ทั้ง 5 คือ ตา, หู, คอ, จมูก, ปาก, มือ ผิวหนังและสัมผัสทางกาย โดยเราจะต้องฝึกประสาทสัมผัสของเราให้เรามีการเรียนรู้ที่ดี คือ
1.      ฝึกทักษะทางตา โดยการฝึกสังเกต เพราะการสังเกตถือเป็นกิจกรรมพื้นฐานของทักษะนี้ โดยเราสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ที่ไหน เราควรฝึกที่จะใช้สายตาอันกว้างไกลของเรา มองสิ่งรอบข้างตัวเราและพยายามเก็บรายละเอียดเอาไว้ และควรมีสมุดบันทึก เอาไว้จดบันทึก ดีอยู่ที่มีคนเคยบอกเราว่า “จำดีกว่าจด ถ้าจำไม่หมดก็ควรจะจด ดีกว่าจำ”
2.      ฝึกทักษะทางหู ทักษะทางหูมีประโยชน์มาก พื้นฐานสำคัญ สำหรับทักษะประสาทสัมผัสทางหูที่เราควรฝึก ได้แก่ ทักษะการฟัง โดยเฉพาะฟังจับใจความในคำพูดของผู้อื่นจนกระทั่งถึงเสียงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เพราะสิ่งเหล่านี้ให้ประโยชน์กับเราได้มากโดยในที่นี้จะขอแนะนำการฝึกทักษะ ดังนี้
·       ลองหาที่สงบๆ สักแห่ง เพื่อที่จะสามารถฟังเสียงรอบๆ ตัวเราได้อย่างชัดเจน
·       หลับตาลง แล้วตั้งใจฟังเสียงเหล่านั้น พร้อมจดบันทึกไว้ด้วยว่าเสียงเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร และลองตอบคำถามว่า เสียงนั้นคือเสียงอะไร
3.      ฝึกทักษะทางจมูก เคยมีกรณีศึกษากรณีหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ มีหญิงสาวช่างสังเกตผู้หนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ มีหญิงสาวช่างสังเกตผู้หนึ่ง รอดมาจากเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ เพราะได้กลิ่นไหม้ออกมาจากหลังบ้านของเธอ ในขณะที่คนในครอบครัวของเธอกลับไม่ได้กลิ่น เธอจึงได้ชื่อว่าเป็นชีโร่ที่ได้ช่วยทั้งตัวเธอและครอบครัวเอาไว้จากเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ทันท่วงที
4.      ฝึกทักษะทางปาก การสื่อสารเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งการพูดหรือการใช้ประสาทสัมผัสทางปาก ก็คือ ทักษะข้อหนึ่งที่ก่อให้เกิดการสื่อสารและการเรียนรู้ โดยมีวิธีการฝึกง่ายๆ คือ หัดพูดที่หน้ากระจก การฝึกแบบนี้อยู่บ่อยๆ จำทำให้เรามีความกล้าและพูดจาชัดเจนยิ่งขึ้น
5.      ฝึกทักษะทางสัมผัส มือ/ผิวหนัง เราจะใช้มือเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ว่ามีลักษณะอย่างไรและฝึกใช้จินตนาการของเรา โดยเฉพาะในวัยเด็ก คือการปั้น การใช้มือในการทำสิ่งต่างๆ


เพื่อน...สิ่งสำคัญในรั้วโรงเรียน

      ในรั้วโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยนั้น บุคคลมีบทบาทกับตัวเรามากที่สุดคือ “เพื่อน” ซึ่งจะอยู่กับเราตลอดเวลา ที่สำคัญมักจะอยู่กันเป็นกลุ่ม
      การคบเพื่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากเพื่อนมีผลอย่างมากทั้งการใช้ชีวิตในสังคม ในโรงเรียนและในเรื่องของการเรียน มีเด็กบางคนเคยเป็นเด็กดี แต่พอเจอเพื่อนที่มีแนวโน้มไม่สนใจเรื่องของการเรียน มีนิสัยค่อนข้างเกเร ทำให้เด็กเหล่านี้ติดนิสัยตามเพื่อนของพวกเขาไปด้วย ไม่ใช่ว่าจะโทษเพื่อนอย่างเดียว แต่ความจริงที่ควรรู้ไว้คือ ในวัยรุ่นนั้น เพื่อนมีอิทธิพลมากที่สุดแล้ว อาจจะมากกว่าครอบครัวด้วยซ้ำ
      “ไม่แปลกเลยที่หลายครั้ง เด็กดีที่เราเคยเห็นเมื่อสองสามปีก่อน จะกลับกลายเป็นเด็กเกเรในตอนนี้ เพราะเพื่อน คือ ตัวแปรสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม”


 


วิธีการในการคบเพื่อน

1.        คบเพื่อนที่สนใจเรียน
2.        คบเพื่อนที่ไม่เกเร
3.        คบเพื่อนที่มีนิสัยใจคอเดียวกันกับเรา
4.        คบเพื่อนที่ไม่ชิงดีชิงเด่นกับเราจนเกินไป การแข่งขันเกิดขึ้นเสมอกับทุกสิ่ง แต่ถ้ามากไปก็ไม่ดี มันจะกลายเป็นการผิดใจกันมากกว่า
5.        คบเพื่อนที่เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม
6.        คบเพื่อนที่จริงใจต่อเรา
7.        คบเพื่อนที่ไม่ปิดกั้นตนเอง เรากับเขาคงไม่เข้าใจกันแน่
8.        คบเพื่อนที่เราคิดว่าสบายใจเมื่ออยู่กับเขา
9.        คบเพื่อนที่ไม่ต่างจากเราจนเกินไป แต่ไม่รวมถึงฐานะ ในเรื่องฐานะ ไม่ว่าจะรวยหรือจนเป็นเพื่อนกันได้เสมอ
10. คบเพื่อนที่ไม่โอ้อวดเรื่องเขาจนเกินไป เพราะมันอาจจะทำให้เรารำคาญจนถึงขั้นทะเลาะกันได้
11. คบเพื่อนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือได้เสมอ
12. คบเพื่อนที่ไม่ใจเย็นและไม่ใจร้อนจนเกินไป
13. คบเพื่อนที่ไม่มองโลกในแง่ร้ายเกินไป
14. คบเพื่อนที่มักจะชวนเราไปทำในสิ่งดีๆ
15. คบเพื่อนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เหล้าหรือสิ่งเสพติด
16. คบเพื่อนที่สนใจเรื่องราวของสุขภาพ
17. คบเพื่อนที่ติดดิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในเรื่องไร้สาระ
18. คบเพื่อนที่ให้ความเคารพในสิทธิส่วนตัวของเรา ไม่ยุ่งในเรื่องส่วนตัวของเรามากเกินไป ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ควรยุ่งในโลกส่วนตัวเขามากเช่นกัน
19. คบเพื่อนที่พร้อมจะให้คำว่า ”เพื่อน” กับเรา


อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว

      หลักสำคัญข้อหนึ่งในการเรียนคือ “อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว” โดยความหมายของมันคือ การที่เราคิดว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นดีอยู่แล้ว จนไม่เปิดรับความรู้จากโลกภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะเวลาที่อาจารย์สอน ถ้าเรามัวแต่คิดว่าเรื่องนี้เรารู้อยู่แล้วทำได้แล้ว ทำให้เราพลาดความรู้ เคล็ดลับดีๆ ที่อาจารย์พร้อมจะถ่ายทอดให้แก่เรา
      ดังนั้นไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วแบบนี้ ทางที่ดีควรจะทำตัวเป็นแก้วที่น้ำไม่เคยเต็ม กล่าวคือ พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ที่อาจารย์สอนอยู่เสมอ
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ มีอุทาหรณ์สอนใจเรื่องหนึ่ง ที่จะสอนให้พวกเราได้รู้เพื่อจะไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยเรื่องนี้ คิดว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว แต่มองข้ามไปสำหรับนิทานอมตะ “กระต่ายกับเต่า”
กระต่ายก็เปรียบเหมือนนักเรียนที่คิดว่า ตนเองเก่งอยู่แล้ว แน่อยู่แล้ว โดยในเรื่องนี้กระต่ายคิดว่าตนเองนั้น ได้เปรียบเทียบเต่าเรื่องความเร็ว จึงไม่คิดฝึกฝนขวนขวายเอาชนะเต่า เพราะคิดว่า อย่างไรก็จะชนะได้แบบใสๆ ไม่ต้องเหนื่อยให้มาก แต่ผลสุดท้าย กระต่ายกลับแพ้ภัยที่ตนสร้างขึ้น คือ น้ำเต็มแก้วได้ล้นเอ่อออกมาเป็นน้ำตาแห่งความเศร้าเสียใจ เมื่อได้รู้ว่าต้องแพ้เต่าคู่แข่งที่ดูเหมือนว่าจะเทียบไม่ได้เลย แต่เพราะความประมาทของกระต่าย ทำให้ต้องพบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด

ถ้าไม่อยากพ่ายแพ้ให้กับสงครามการเรียน จงอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว และมีสัจธรรมข้อหนึ่งที่เป็นจริงตลอดกาลคือ “ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย”

อ้างอิง
ภากร กัทชลี. (2553). เรียนแบบเล่นๆ แต่ได้เกรด 4 เขามีวิธีอย่างไรกันนะ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เพชรสีน้ำเงิน
โยธิน ลัทธิประสาธน์. (2552). เกียรตินิยมสอนน้องเรียนเก่ง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ปรีชาอินเตอร์พริ้น จำกัด
โรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบ. แนะวิธีการเรียนเก่ง. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://school.obec.go.th/numdip/data/good.php. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 25         พฤศจิกายน 2556)
คุณชายขี้เหงา. อ่านหนังสืออย่างไรให้จำแม่น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :http://school.obec.go.th/numdip/data/good.php. (วันทีสืบค้น    ข้อมูล : 25 พฤศจิกายน 2556 )
พรพรรณ. 10 เทคนิคเรียน ให้เป็นคนเรียนเก่ง. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :http://teen.mthai.com/education/52719.html. (วันทีสืบค้นข้อมูล  : 25 พฤศจิกายน 2556 )
ผศ.ดร.สมวงษ์ แปลงประสบโชค. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :                   http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/guidance/15401. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 25 พฤศจิกายน 2556)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ข้อสอบดาราศาสตร์

อาณาจักรสุโขทัย

เจาะลึกโลกดาวเทียม