สุภาษิตไทย หมวด ก



* กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี
สำนวนสุภาษิตนี้ หมายถึงเมื่อถึงคราวบ้านเมืองนั้นๆถึงคราวยากลำบาก ก็ยังเหลือคนดีมีความสามารถมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ช่วยเหลือให้ผ่านพ้นไปได้
ที่มาของสำนวน คาดว่าน่าจะมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาจริงๆ เนื่องจากปรากฏหลักฐานในสภาพขุนช้างขุนแผนด้วยว่า คนดีไม่สิ้นอยุธยาในตอนเถรกวาดแก้แค้นพลายชุมพล

* กลิ้งครกขึ้นภูเขา
สำนวนสุภาษิตนี้  ”กลิ้งครกขึ้นภูเขานั้นหมายถึง เรื่องที่กำลังจะทำนั้นจะทำให้สำเร็จนั้นทำได้ยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามและความสามารถอย่างมาก เปรียบเสมือนการ กลิ้งครกขึ้นภูเขา
ที่มาของสำนวน  ส่วนสำนวนที่ว่า เข็นครกขึ้นภูเขานั้นจริงๆแล้วไม่ถูกต้องเพราะต้องใช้คำว่า กลิ้งครกไม่ใช่ เข็นครก

* กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
สำนวนสุภาษิตนี้ หมายถึงลักษณะของการทำงานที่มีความรีรอลังเลใจ ทำให้แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที เมื่อได้อย่างหนึ่งแล้ว แต่กลับต้องเสียอีกอย่างหนึ่งไป
ที่มาของสำนวน มาจากการคั่วถั่วกับงาในกระทะเดียวกัน ถั่วเป็นของสุกช้างาสุกเร็ว หากมัวรอไห้ถั่วสุก งาก็ไหม้ไปซะก่อน

* กินที่ลับขับที่แจ้ง
สำนวนสุภาษิตนี้ การได้ประโยชน์กันในที่ลับไม่มีใครรู้ แต่ต่อมามีการขัดข้องกันจึงนำเรื่องที่เคยทำนั้นมาเปิดเผยให้หลายๆคนรับรู้ มักใช้ในเชิงชู้สาว
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยได้กับการกินอาหารในที่ส่วนตัวไม่มีใครเห็น แต่เมื่อเวลาถ่ายกลับถ่ายในที่มีคนเห็นมากมายซึ่งเป็นการทำที่ไม่ดี
อีกสำนวนหนึ่งที่เห็นบ่อยและมีความหมายเดียวกันก็คือ กินที่ลับไขที่แจ้ง

* กินน้ำใต้ศอก
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายไปในทางที่ว่าถึงจะได้อะไรสักอย่างก็ไม่เทียมหน้าหรือไม่เสมอหน้าเขา เช่นหญิงที่ได้สามี แต่ต้องตกไปอยู่ในตำแหน่งเมียน้อย ก็เรียกว่ากินน้ำใต้ศอกเขา
ที่มาของสํานวน คนในสมัยก่อนอธิบายว่า คนหนึ่งเอาสองมือรองน้ำมากิน มากิน อีกคนหนึ่งรอหิวไม่ไหวเลยเอาปากเข้าไปรองน้ำที่ไหลลงมาข้อศอก ของคนกอบน้ำกินนั้นเพราะรอหิวไม่ทันใจ

* กำขี้ดีกว่ากำตด
สำนวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการที่คนๆนั้นจะเลือกสิ่งที่มีมูลค่าหรือคุณค่าน้อยว่าแต่ว่าจะได้ แน่ๆ ดีกว่าการเลือกสิ่งที่มีคุณค่าหรือมูลค่าสูงกว่า แต่ยังมีความไม่แน่นอนในการได้มาของสิ่งนั้นๆ หรือสื่ออีกความหมายหนึ่งคือ ได้อะไรมาบ้างแน่ๆ ดีกว่าความหวังสูง แต่อาจจะไม่ได้อะไรเลย
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยจาก การกำขี้นั้นยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่ตดนั้นไม่สามารถที่จะจับต้องได้

* กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงคนที่เนรคุณคนเปรียบได้กับคนที่อาศัยพักพิงบ้านเขาอยู่แล้ว คิดทำมิดีมิชอบให้เกิดขึ้นภายในบ้านนั้น ทำให้เจ้าของบ้านที่ให้อาศัยต้องเดือดร้อน
ที่มาของสํานวน  มาจากที่คนโบราณเอาลักษณะของแมวที่ไม่ดี คือกินแล้วถ่ายไม่เป็นที่ โดยขึ้นไปขี้บนหลังคาให้เป็นที่สกปรกเลอะเทอะเพราะคนสมัยก่อนต้องการให้ หลังคาสะอาดเพื่อรองน้ำฝนไว้กิน จึงเอาแมวที่ทำไม่ดีนี้ มาเปรียบเทียบกับคนชั่วที่ไม่รู้จักบุญคุณคน

* กินปูนร้อนท้อง
สํานวนสุภาษิตนี้ เปรียบเหมือนคนเมื่อทำความผิดแล้วเกรงว่าคนอื่นจะจับความผิดของตนได้ อันที่จริง เฉยไว้ก็ไม่มีใครรู้แต่กลับแสดงอาการพิรุธออกมาให้เห็นก่อนที่คนอื่นจะรู้
ที่มาของสํานวน เกิดจากการที่คนเราเอาปูนมาล่อให้ตุ๊กแกกินเข้าไป ซึ่งเมื่อมันกินมันจะมีอาการเมา งัวเงีย ส่งเสียงร้องแก้กๆ ซึงพอคนฟังก็เหมาเอาว่าเป็นเพราะมันร้อนท้อง

* กินน้ำเห็นปลิง
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงการจะทำสิ่งใดๆอยู่แล้ว แต่ไปเจออะไรที่ไม่ไว้วางใจ จึงไม่ทำสิ่งนั้นๆต่อให้จบ
ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงคนที่จะกินน้ำในแก้วที่ตักมาจากบ่อ แต่เผอิญเหลือบไปเห็นน้ำในบ่อมีปลิงอยู่ ก็เกิดอาการรังเกียจไม่อยากกินน้ำในแก้วนั้นแล้ว

* เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายความว่าถึงจะทำงานเล็กใหญ่ หรือค้าขายอะไรก็ตาม ก็พยายามค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นแม้เล็กน้อยๆ เมื่อรวมกันและใช้เวลาก็จะทำให้การงานนั้นเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้
ที่มาของสํานวนเบี้ยในสมัยก่อนเป็นพวกหอยชนิดหนึ่งเรียกว่า เบี้ยจั่นใช้เป็นเงินแลกเปลี่ยนซื้อของได้ แต่มีราคาต่ำแปลตามตัวอักษรนี้ก็ว่าเก็บเบี้ยที่ตกอยู่ตามใต้ถุนร้าน หรือแผงลอยวางของขายซึ่งตกหล่นอยู่บ้าง เพราะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเบี้ยกับของโดยไม่เห็นว่าจะเป็นเบี้ยมีราคาต่ำ

 * เกลียดขี้ขี้ตาม เกลียดความความถึง
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึง การที่คนเราเกลียดสิ่งไหนแล้วมักจะได้สิ่งนั้น เปรียบได้กับหญิงสาวไม่ชอบผู้ชายที่เจ้าชู้ แต่ต่อมาก็ได้สามีที่เจ้าชู้ในที่สุด
ที่มาของสํานวน  ไม่ทราบที่มาแน่ชัด

* เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายความไปในทางที่ว่าเกลียดตัวเขาแต่อยากได้ผลประโยชน์จากเขา หรือของๆเขา เช่น คนหนึ่งปากบ่นว่าไม่ชอบเขา แต่เมื่อเขาให้ของมาก็รับไว้
ที่มาของสํานวน  บางคนเกลียดปลาไหลในรูปร่างของมัน แต่เมื่อเอามาแกง น้ำแกงมีรสหอมก็กินน้ำแกง

* แกว่งเท้าหาเสี้ยน
สํานวนสุภาษิตนี้ หมายถึงคนที่เข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่นทั้งๆที่ไม่จำเป็น จนทำให้ตัวเองนั้นเดือนร้อน
ที่มาของสํานวน เปรียบเปรยถึงการนำเท้าเปล่าของตนเอง ไปแกว่งในพื้นดินจนเท้าตัวเองถูกเสี้ยนตำ

* ไก่กินข้าวเปลือก
สํานวนสุภาษิตนี้ ถ้าพูดให้เต็มความก็ต้องพูดว่าตราบใดที่ไก่ยังกินข้าวเปลือกอยู่ ตราบนั้นคนเราก็ยังอดกินสินบนไม่ได้หมายถึงนิสัยลึกๆของคนนั้นยังไงก็ชอบที่จะรับสินบน
ที่มาของสํานวน เข้าใจว่าเป็นคำพังเพยของจีนเอามาใช้เป็นภาษาของเขาก่อน แล้วไทยเราเอามาแปลเป็นภาษาไทย มีใช้กันอยู่มากในสมัยก่อนๆ

* ใกล้เกลือกินด่าง
สํานวนสุภาษิตนี้ สิ่งที่หาได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ตัวที่มีคุณค่ากว่ากลับไม่เอา  แต่กลับไปเอาสิ่งที่อยู่ไกลหรือหายากแต่มีคุณค่าด้อยกว่ามาใช้
ที่มาของสํานวน เปรียบเหมือน การหาเกลือหาง่ายกว่าด่าง แต่กลับไปหาด่างมากิน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ข้อสอบดาราศาสตร์

อาณาจักรสุโขทัย

เจาะลึกโลกดาวเทียม